ระบบ tablature (อ่านว่า แท็บเลเจอร์ ออกเสียงสั้นและหนัก ท-แอะ-บ = แท็บ ไม่ใช ่แท๊บ)เป็นระบบหนึ่งในการบันทึกโน๊ตดนตรีสำหรับเครื่องดนตรีประเภท strings instrument หรือประเภทสาย โดยการใช้ตัวเลขกำหนดช่องที่จะเล่นไว้บนตำแหน่งสายต่าง ๆ แทนการบอกด้วยโน๊ตซึ่งคุณต้องอ่านโน๊ตให้ได้และต้องมาหา position หรือตำแหน่งโน๊ตบนฟิงเกอร์บอร์ดเอง มักจะเรียกสั้น ๆ ว่า tab (อ่าน แท็บ) ระบบนีถือกำเนิดมาจากแนวความคิดของนักดนตรีชาวสเปน ชื่อ Juan Calos Y.Amat ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ามีการทำ tab เพลงมาขายมากมายทั้งเพลงไทยและเพลงฝรั่ง ดังนั้นคุณจึงควรจะอ่านระบบ tab เป็นเพื่อจะได้สามารถเล่นเพลงต่าง ๆ เหล่านั้นได้ตาม tab โดยไม่ต้องมานั่งแกะเองซึ่งบางเพลงนั้นไม่ง่ายเลย ในส่วนนี้ผมจะแนะนำถึงเครื่องหมาย สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในระบบ tab การอ่านและการเล่น รวมถึงตัวอย่างแบบต่าง ๆ ให้ได้ศึกษา
4.1 ลักษณะทั่ว ๆ ไปของระบบ tablature
ระบบ tablature เป็นระบบ numeric system หรือเป็นระบบตัวเลข ที่ดัดแปลงมาจากระบบ notation หรือโน๊ตสากล เพื่อให้เหมาะสมกับเครื่องดนตรีประเภทสายและสะดวกในการอ่านมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ถนัดในการอ่านโน๊ตสากล ส่วนประกอบโดยหลักคือ จะมีเส้นในแนวนอน 6 เส้นสำหรับกีตาร์ (คล้าย ๆ กับบรรทัด 5 เส้น) แต่ละเส้นจะแทนสายกีตาร์แต่ละสาย และจะมีตัวเลขกำกับอยู่บนเส้นทั้ง 6 เส้นตามแต่ปรากฎในเพลงนั้น ๆ ซึ่งตัวเลขที่ปรากฎบนเส้นต่าง ๆ ใน tab นั้นจะหมายถึงช่องหรือเฟร็ตบนคอกีตาร์ เช่น เลข 3 หมายถึงกดที่ช่อง หรือเฟร็ต 3 เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจจะมีเครื่องหมายทางดนตรีสากลต่าง ๆ ปรากฎอยู่เช่นเครื่องหมายแสดงจังหวะ time signature ตัวหยุด เป็นต้นและสัญลักษณ์ทางกีตาร์ เช่น สไลด์ แฮมเมอร์ ออน หรือ พุล ออฟ เป็นต้น ลองดูตัวอย่างจากเพลงข้างล่างนี้ครับ
เพลงนี้เพื่อน ๆ คงจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว แล้วเพื่อน ๆ ลองสังเกตดูซิครับว่าระบบ tablature นั้นต่างกับระบบ notation ยังไงบ้าง
จากข้อที่แล้วคุณจะได้รู้จักระบบ tablature คร่าว ๆ แล้วคราวนี้เราจะมารู้จักวิธีอ่าน tab กันซึ่งไม่ยากเลยครับ หลักการอ่าน tab คือตัวเลขที่ปรากฎหมายถึงจุดนั้นเราต้องดีดกีตาร์ตามตำแหน่งเฟร็ตที่ตัวเลขนั้นกำหนดและสายที่ตัวเลขนั้นเขียนทับ ดังนั้นอาจจะสรุปว่า
1. ตัวเลขที่ปรากฎอยู่บนเส้นแต่ละเส้นใน tab คือโน๊ตที่เราต้องเล่น หรือดีดให้เกิดเสียง ส่วนตัวที่ปรากฎที่ตัวโน๊ต(ในระบบ notation ที่อยู่เหนือ tab)จะแทนนิ้วที่จะใช้เช่น 0 คือสายเปิดไม่ต้องกด 1 คือ นิ้วชี้เป็นต้น
2. ดูว่าตัวเลขนั้นเขียนทับบนเส้นใด หรือสายกีตาร์สายใด โดยที่สาย 6 หรือ E - bass (สายใหญ่สุด) จะอยู่ล่างสุด แล้วไล่เรียงขึ้นมา สาย 5, 4, 3, 2 และสาย 1 หรือ E - treble (สายเล็กสุด) จะอยู่เส้นบนสุดของ tablature
3. ดูว่าตัวเลขนั้นคือเลขอะไรซึ่งหมายถึงช่องหรือเฟร็ตที่คุณต้องกด บนสายในข้อ 2. เช่นเลข 1 คือกดช่องที่ 1, เลข 8 กดช่องที่ 8 และเลข 0 คือไม่ต้องกดดีดสายเปล่า เป็นต้น
จากรูปแสดงรายละเอียดของ tablature ในห้องที่ 1 โน๊ตตัวแรกที่ต้องเล่นคือ เลข 0 ที่อยู่บนเส้นที่ 2 จากล่างหรือสายที่ 5 ของกีตาร์ ก็คือดีดสาย 5 สายเปล่าคือไม่ต้องกดช่องใด ด้วยนิ้ว P หรือนิ้วโป้ง และโน๊ตตัวต่อมาที่ต้องเล่น คือ เลข 1 บนสาย 5 เช่นกัน คือ กดสาย 5 ที่ช่องแรกแล้วดีดด้วยนิ้วโป้ง
ในห้องที่ 2 ก็เช่นกัน โน๊ตตัวแรกคือ เลข 0 บนสาย 2 คือดีดสายเปล่าสาย 2 ด้วยนิ้ว m หรือนิ้วกลาง ตัวต่อมาคือเลข 2 บนสาย 2 คือกดช่อง 2 ของสาย 2 ดีดด้วยนิ้วชี้ เป็นต้น
4. ดูสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่าง ๆ เช่นการทำเสียงสั่น การเล่นแฮมเมอร์ ออน พูลออฟ การสไลด์ หรือการดันสาย เป็นต้นซึ่งอาจจะปรากฎอยู่บนตัวเลขหรือโน๊ตที่คุณกำลังเล่น คุณจะต้องรู้จักสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่บน tab เช่นจากตัวอย่างในห้องที่ 2 โน๊ตตัวที่ 3 คือเลข 3 บนสาย 3 หรือกดช่อง 3 ของสาย 3 ดีดด้วยนิ้ว m หรือนิ้วกลางแล้วลากเสียงไปอีก 1 จังหวะตามเครื่องหมาย slur
5. ดูจังหวะการเล่นเสียงสั้น ยาว หรือหยุดเสียง ซึ่งจะคล้ายกับระบบ notation tab บางแบบจะไม่มีระบบ notation กำกับอยู่แต่จะแสดงจังหวะไว้ในตัว tab เลย หรืออีกแบบจะมีระบบ notation กำกับอยู่ด้วยและไม่มีเครื่องหมายกำกับจังหวะที่ tab (เช่นเพลง happy birthday ด้านบน)
การอ่าน tablature ให้เข้าใจไม่ยากเลยครับ แต่การเล่นให้ได้เหมือน tab หรือให้เหมือนเพลงจริง ๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะเรื่องของจังหวะการเล่น ดังนั้นการที่จะเล่น tab หรือเพลงนั้นให้ได้ผลดีขึ้นผมขอแนะนำว่าคุณควรจะฝังเพลงนั้นให้ขึ้นใน และควรนำ tab เพลงดังกล่าวมาดูและแกะตามไปด้วยขณะฟังเพลงจะทำให้คุณเข้าใจถึงจังหวะการเล่น และรวมถึงเทคนิคเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ปรากฎบน tab จากนั้นจึงค่อยมาเล่นตาม tab ดู ไม่จำเป็นว่าคุณจะสามารถเล่นได้เหมือนเพลงในการเล่นครั้งแรกแต่ tab จะเป็นไกด์ให้คุณ เมื่อคุณเล่นบ่อย ๆ คุณจะสามารถอ่าน tab ได้คล่องขึ้นและสามารถเล่นได้เหมือนเพลงที่คุณต้องการ
4.3 สัญลักษณ์ที่ใช้กับ tablature
ใน tablature นอกจากบรรทัด 6 เส้นและตัวเลขแล้วยังมีสัญลักษณ์อื่น ๆ อีกมากทั้งในด้านของดนตรีสากลและสัญลักษณ์ของการเล่นกีตาร์ในส่วนนี้ผมจะแนะนำถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่พบใน tab เท่าที่ผมได้เคยพบมานะครับ สำหรับสัญลักษณ์ที่ใช้ใน tab สามารถไปดูได้ที่เทคนิคในการเล่นกีตาร์
สัญลักษณ์ทางดนตรีสากล
สัญลักษณ์ประเภทนี้ได้แก่ เครื่องหมายทางดนตรีสากล ที่จะพบมากคือ
1. เครื่องหมายกำหนดจังหวะ ความสั้นยาวของเสียงซึ่งแทนสัญลักษณ์ของตัวโน๊ตนั่นเองเช่นตัวดำ ตัวเขบ็ตเป็นต้น
2. เครื่องหมายตัวหยุดซึ่งอาจจะปรากฎบน tab
3. เครื่องหมายกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ของตัวโน๊ต เช่น vibrato, harmonic, slide
4. เครื่องหมายกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ของเพลงเช่น time signature, key scale เป็นต้น
สัญลักษณ์ทางกีตาร์
จะเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงลักษณ์การเล่นกีตาร์ซึ่งจะเป็นเทคนิคต่าง ๆ นั่นเองเช่น การเล่น hammer on, pull off, bending(ดันสาย), sweep, การทาบสายหรือ bar (ฺBVII คือ bar หรือทาบที่ช่อง 7 ตามเลขโรมัน VII จากห้องที่ 2 ของเพลง happy birthday ทาบตลอดที่มีเส้นไข่ปลากำกับ) หรือ tapping (จิ้มหรือเคาะสาย)เป็นต้น
1. แฮมเมอร์ ออน , พูล ออฟ จะใช้เครื่องหมายเส้นโยงและเขียน H หรือ P กำกับไว้แต่บางครั้งก็อาจจะไม่เขียนไว้ก็ได้ให้ดูจากโน๊ตเอง
2. การเล่นสไลด์ ใช้เส้นตรงโยงจากโน๊ตตัวแรกไปยังตัวสุดท้ายที่จะสไลด์ไปถึง จะขึ้นหรือลงแล้วแต่โน๊ต
3. การ strum หรือตีคอร์ดลง หรือขึ้น แทนด้วยเส้นลอนคลื่นในแนวตั้ง เช่นที่ห้องก่อนสุดท้ายของเพลง happy birth day ที่ strum หรือตีคอร์ด E ลงซึ่งในทางปฏิบัติจะช้ากว่าการตีคอร์ดด้วยปิค คืออาจใช้นิ้วชี้หรือนิ้วโป้งดีดลงทีละสายอย่างต่อเนื่องจะไม่เหมือนการตีคอร์ดซึ่งจะตีลงทีเดียวพร้อม ๆ กัน
4. การทาบสายหรือ bar แทนด้วย B (bar) แล้วตามด้วยเลขโรมันแทนช่องที่จะทาบ เช่น ฺBVII คือ bar หรือทาบที่ช่อง 7 ตามเลขโรมัน VII จากห้องที่ 2 ของเพลง happy birthday โดยทาบตลอดที่มีเส้นไข่ปลากำกับ
5. การดันสาย แทนด้วยเส้นโค้งที่ปลายเป็นลูกศรบอกลักษณะของการดันสาย เช่นดันขึ้นแล้วปล่อยดันก่อนแล้วดีด เป็นต้น
6. การ tapping คือการจิ้มหรือเคาะสาย จะแทนด้วย T (tapping) ไว้เหนือโน๊ตตัวที่จะจิ้มหรือเคาะสายนั้นโดยอาจจะใช้นิ้วชี้ นิ้วกลางหรือปิคในการจิ้มก็ได้ มักจะใช้ร่วมกับแฮมเมอร์ ออน และพูล ออฟ
นอกจากระบบ tablature ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วยังมีอีกระบบหนึ่งที่ง่ายกว่า แต่ไม่สามารถใช้กับเพลงที่ซับซ้อนหรือการโซโล่กีตาร์ได้ดีนัก ซึ่งเหมาะสำหรับเพลงที่มี pattern การเล่นที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเช่นการเกาหรือตีคอร์ดกับการจับคอร์ดธรรมดาที่ไม่ต้องเปลี่ยนนิ้วมากนัก มักจะเป็นเพลงโฟล์คซอง ที่ฟังง่าย ๆ เพลง pop ทั่ว ๆ ไป
รายละเอียดของ right hand diagram จะคล้าย ๆ กับ tab คือใช้บรรทัด 6 เส้นแทนสายกีตาร์ 6 สายเช่นเดียวกันและใช้ตัวเลขเขียนกำกับบนเส้นต่าง ๆ เช่นกัน เพียงแต่ตัวเลขดังกล่าวนั้นจะไม่ได้แสดงถึงช่องที่กดเหมือนแบบ tab แต่จะหมายถึงนิ้วที่เล่น และจะมีรูปการจับคอร์กำหนดไว้เหนือการเล่นตรงโน๊ตนั้น ดังนั้นอาจจะสรุปวิธีการอ่าน right hand diagram ได้ว่า
1. บรรทัด 6 เส้นนั้นจะแทนสายทั้ง 6 ของกีตาร์เช่นเดียวกับระบบ tablature
2. ตัวเลขที่แสดงบนแต่ละเส้นนั้นมิได้หมายถึงให้กดที่ช่องหรือเฟร็ตนั้น แต่หมายถึง ให้ดีดเส้นนั้นด้วยนิ้วที่แทนด้วยตัวเลขนั้น ซึ่งสัญลักษณ์หรือตัวเลขที่ใช้แทนนิ้วมือขวาคือ
- นิ้วโป้ง ใช้สัญลักษณ์ T (Thumb)
- นิ้วชี้ ใช้สัญลักษณ์เลข 1
- นิ้วกลาง ใช้สัญลักษณ์เลข 2
- นิ้วนาง ใช้สัญลักษณ์เลข 3
โดยที่นิ้วก้อยไม่ใช้ในการเกาหรือเล่นกีตาร์แต่จะช่วยในการเกาะกับตัวกีตาร์เพื่อประคองนิ้วให้อยู่ในตำแหน่งของมัน ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้ว
3. การจับคอร์ดหรือการวางนิ้วของมือซ้ายจะเขียนอยู่เหนือบรรทัด 6 เส้นนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนรูปแบบการจับคอร์ดก็จะเปลี่ยนรูปใหม่ไปเรื่อย ๆ
4. คุณต้องอ่านจังหวะเช่นเดียวกับระบบ tab รวมถึงสัญลักษณ์และเครื่องหมายทางดนตรีสากลและกีตาร์ซึ่งจะปรากฎอยู่บนระบบ right hand diagram
จากตัวอย่างเรามาดูวิธีการอ่านและเล่นดูนะครับ
1. ที่ห้องที่ 1 จังหวะที่ 1ดูจากคอร์ดจะต้องกดที่ช่อง 3 ของสาย 6 แล้วจึงดูจาก diagram ใช้นิ้วโป้ง(T)ดีด ดีดสาย 6
จังหวะที่ 2 ดูจากคอร์ดไม่ต้องกดที่ช่องใดแต่เล่นสายเปล่า(o)ของสาย 5 แล้วจึงดูจาก diagram ใช้นิ้วโป้ง(T)ดีด ดีดสาย 5
จังหวะที่ 3 ดูจากคอร์ดจะต้องกดที่ช่อง 2 ของสาย 5 แล้วจึงดูจาก diagram ใช้นิ้วโป้ง(T)ดีด ดีดสาย 5
2. ที่ห้องที่ 2 ดูจากคอร์ดคือจับคอร์ด C และดูที่ diagram จะดีดเบสเส้น 5 ด้วย T จากนั้นดีดสาย 3 ด้วยนิ้วชี้(1) ดีดสาย 2 ด้วยนิ้วกลาง(2) และดีดสาย 1 ด้วยนิ้วนาง(3)
3. ห้องที่ 3 จากคอร์จะเห็นว่าจับเป็นคอร์ด G7 จากนั้นมาดูที่ diagram จะดีดเบสก่อน จากนั้นดีดสาย 1 ด้วยนิ้วนาง(3) ดีดสาย 2 ด้วยนิ้วกลาง(2) และดีดสาย 3 ด้วยนิ้วชี้(1)
4. ห้องที่ 4 จากคอร์คือจับคอร์ด C อีกครั้ง และจาก diagram ให้ใช้นิ้วโป้ง(T)ดีดเบสสาย 5 แล้วจึงดีดสาย 4 ต่อด้วยนิ้วโป้งเหมือนเดิม และจังหวะสุดท้าย ดีดสาย 3,2 และ 1 พร้อมกันด้วยนิ้วชี้(1), นิ้วกลาง(2)และนิ้วนาง(3) ตามลำดับ
เราจะเห็นได้ว่าระบบ right hand diagram หรือระบบ ไดอะแกรมมือขวา จะง่ายกว่าระบบ tab ขึ้นมาอีกเนื่องจากระบบ right hand diagram จะบอกให้เรารู้ทั้งรูปแบบการวางนิ้วของมือซ้ายหรือการจับคอร์ด และยังบอกถึงการใช้งานมือขวาว่าจะใช้นิ้วไหนดีดเส้นไหนบ้าง ซึ่งระบบ tab จะบอกแค่เพียงว่าคุณต้องเล่นเส้นนั้นเส้นนี้ที่เฟร็ตนั้นเฟร็ตนี้
แต่อย่างไรก็ตามระบบ right hand diagram ก็ไม่สามารถใช้กับเพลงที่มีความซับซ้อนหรือต้องมีการเปลี่ยนนิ้วมือซ้ายในการจับคอร์ตลอดเวลา และการเล่นที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเล่นโซโล่, กีตาร์คลาสสิก, บลู์หรือแจ๊ส เป็นต้นซึ่งมีความซับซ้อนในการเล่นพอสมควร แต่ในทางตรงกันข้ามก็เหมาะกับเพลงที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนมากนัก มีระบบการเล่นที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงมากนักตลอดเพลงเช่นเพลงโฟล์ค หรือ pop ทั่วไปและเหมาะกับการเริ่มฝึกกีตาร์
แล้วผมจะพยายามนำตัวอย่างเพลงมาลงเพื่อได้ให้เพื่อน ๆ ได้ศึกษากันในภายหลังนะครับ เนื่องจากผมต้องเลือกเพลงที่น่าสนใจและทำ tab หรือ right hand diagram (อันนี้เวลาทำวุ่นวาย กว่า tab อีกครับ) ด้วยตนเองจึงล่าช้าไปบ้างยังไงก็แนะนำเพลงมาได้ครับ จะได้จัดทำมาให้ศึกษากันครับ